เนื่องจากผมเป็นคนหนึ่งที่ติดตาม คุยกับประภาส ชลสลานนท์ ตั้งแต่ "คุยกับประภาส" เล่ม 1 จนถึง "ยอดมนุษย์ลำลอง"
รู้สึกชื่นชมในผลงาน คิดว่ายังมีแฟนๆ ที่คอยติดตาม อย่างใจจด จ่อ
ขออนุญาติ รวมบทความเท่าที่หาได้ไว้เพื่อแฟนที่กำลังติดตามนะครับ

แฟนานุแฟน (chay2100@yahoo.com),www.prapascolumn.20m.com


ปลาใหญ่ปลาเล็ก
=========
คอลัมน์ คุยกับประภาส

โดย ประภาส ชลศรานนท์

สองอาทิตย์ก่อนมีโอกาสได้ไปพบแฟนๆ หนังสือที่ศูนย์สิริกิติ์ ถึงคนจะเยอะจนเดินเบียดกันแทบทั้งหอ แต่ก็สนุกดีครับ ต้องขอบคุณท่านผู้อ่านหลายท่านไว้ตรงนี้ด้วย ที่วันนั้นอุตส่าห์เจียดเวลาเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกัน

คุณพี่ผู้หญิงท่านหนึ่งพูดแซวผมตามชื่อหนังสือยอดมนุษย์ลำลองว่า เป็นยอดมนุษย์หรืออย่างไร ถึงได้นั่งเซ็นหนังสือตั้งสามสี่ชั่วโมงโดยไม่เหนื่อยไม่เมื่อยบ้าง เรียนตามตรงครับไอ้เมื่อยนี่มันก็มีอยู่หรอก แต่ทุกครั้งที่แหงนหน้ามองเห็นแฟนๆ ยืนเข้าคิวเป็นระเบียบรออยู่อย่างนั้น ความเหนื่อยความเมื่อยมันแพ้หัวใจที่พองโตครับ

ยิ่งได้รู้ว่าคนอ่านหนังสือของเรามีหลายรุ่นหลายวัยยิ่งดีใจครับ

สำหรับคุณน้องคุณน้าทั้งหลายที่ฝากความระลึกถึงไปยังแม่เภา ผมจะรีบนำความไปบอกเธอให้ รวมไปถึงที่ฝากตามให้แม่เภามาพบกับท่านผู้อ่านบ่อยๆ ด้วย แม่เภานี่ถูกถามถึงมากที่สุดครับ ไม่รู้ป่านนี้หน้าบานเป็นจานกระด้งแค่ไหนแล้ว

แฟนรุ่นเล็กสุดที่ผมได้พูดคุยวันนั้นน่าจะเป็นเด็กหนุ่มตัวเล็กๆ คนหนึ่ง เขาแนะนำตัวว่าเป็นเด็กมัธยมปีที่ 5 เรียนอยู่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาที่ผมเคยร่ำเรียน เขากับผมยืนคุยกันอยู่นานจนเขากล้าออกปากเชิญผมไปเยี่ยมเว็บไซต์ส่วนตัวของเขาบ้าง

นอกจากตั้งคำถามแปลกๆ ถามผมมาสี่ห้าข้อแล้ว เขายังบ่นไปถึงการเรียนการสอบที่ค่อนข้างหนัก รวมไปถึงความกังวลใจในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของเขา

ระหว่างการสนทนาผมจับได้ถึงความทดท้อและความสับสนเล็กๆ น้อยๆ ในความคิดของคนวัยนี้ เขาพูดถึงภาระหน้าที่จะต้องเรียนให้ได้ดีและความกดดันในเรื่องที่จะต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ แล้วเขาก็พร่ำถึงงานอีกงานหนึ่งที่เขาให้ความทุ่มเทกับมันเกินกว่าคำว่างานอดิเรก นั่นคืองานแต่งเพลงและงานเล่นดนตรีที่เขารัก

ตอนที่คุยกับเขาอยู่นั้น ผมว่าผมมองเห็นตัวผมเองอยู่ในตัวเขา

วันนั้นผมไม่ได้แนะนำอะไรเขาไปมากนัก นอกจากเย้าเล่นๆ ว่าถ้ามีความฝันเยอะกว่าชาวบ้านเขา ก็ต้องยอมเหนื่อยกว่าชาวบ้านเขาด้วยเป็นธรรมดา ไม่ควรบ่นอันใดให้เสียเชิงนักล่าฝัน

จู่ๆ ผมก็คิดถึงคืนวันอันหอมหวานครั้งนั้นขึ้นเสียเฉยๆ ครับวันนี้

ตอนที่เดินเข้ามาโรงเรียนเตรียมวันแรกเมื่อเกือบสามสิบปีก่อน ผมจำได้ว่านอกจากความตื่นเต้นที่จะได้เรียนในที่ใหม่ กับครูใหม่และเพื่อนใหม่แล้ว เจ้ารองเท้าใหม่คู่ที่ใส่มาวันแรก มันกัดเท้าผมจนเดินแทบไม่ได้

ไม่รู้วันมอบตัวหรือวันฟังผลสอบนี่ละครับ ที่ผมถูกรุ่นพี่หลอกว่าวันเปิดเทอมวันแรกน้องใหม่จะต้องใส่รองเท้าหนังสีดำเท่านั้น ส่วนรองเท้าผ้าใบสีดำให้เก็บไว้ใส่วันที่มีวิชาพละ

เด็กบ้านนอกอย่างผม เห็นรุ่นพี่เขาว่าอย่างไรผมก็ว่าอย่างนั้น

แล้วตั้งแต่เกิดมาเคยมีรองเท้าหนังกับเขาเสียที่ไหน อยู่โรงเรียนวัดที่บ้านนอกมีรองเท้าอยู่สองคู่ รองเท้าแตะคู่หนึ่งกับรองเท้าผ้าใบสีน้ำตาลอีกคู่หนึ่ง ภาพยังติดตาอยู่เลยครับว่าก่อนวันโรงเรียนเตรียมเปิดเทอมสักสองสามวันนี่ ผมต้องวิ่งวุ่นแถวสะพานควายเพื่อหาซื้อร้องเท้าที่ขนาดพอดีเท้าที่สุด

ถึงขนาดนั้นวันเปิดเทอมก็ยังโดนกัดเสียเดินเป๋ไปเป๋มา ใส่อยู่สามสี่วันให้พอรองเท้าหายกัด ผมก็กลับมาใส่รองเท้าผ้าใบตามถนัดอย่างเดิม

เท้าหายระบมแล้ว แต่ไอ้ความตื่นเต้นนี่ยังไม่หาย

แม้จะเริ่มคุ้นชินกันบ้างกับเพื่อนๆ ในห้อง แต่ใครจะไปคิดละครับว่าจะมีคนขยันเรียนถึงขนาดเวลาพักเที่ยงก็ยังเข้ามานั่งอ่านหนังสือในห้อง และที่สำคัญมันไม่ได้มีคนขยันอย่างนั้นแค่คนเดียว

ห้องผมนั้นไม่เท่าไรหรอกครับ แค่สี่ห้าคน แต่ห้องอื่นตึกอื่นที่ผมเดินผ่านไปนี่ บางห้องเกือบครึ่งห้อง

ยอมรับเลยครับว่าปรับตัวไม่ทัน

และมีอีกหลายคนที่เป็นอย่างผม บางคนเห็นเพื่อนขยันเรียนมากๆ ก็ประชดด้วยการไม่เรียนเสียเอง บางคนมาจากโรงเรียนชายล้วนหญิงล้วนก็ต้องมาปรับตัวที่นี่ หลายคนวางตัวไม่ถูกกับเพื่อนเพศตรงข้ามจนไม่เป็นตัวของตัวเอง นอกจากนี้กิจกรรมแปลกๆ ใหม่ๆ ที่เมื่อครั้งอยู่โรงเรียนเก่าไม่เคยเห็น ก็ได้มาเห็นที่นี่ งานรับน้องห้องเอย รุ่นพี่พารุ่นน้องไปเที่ยวต่างจังหวัดเอย หรือแม้แต่ริจะทำนิตยสารประจำห้องก็ทำกัน

งานรับน้องห้องนั้นรุ่นพี่เขาเลี้ยงกันในวันหยุดตอนกลางวันตามบ้านรุ่นพี่ มีการตั้งซุ้มให้น้องๆ มุด แล้วก็เลี้ยงอาหาร ร้องรำทำเพลงกัน และที่พลาดไม่ได้ก็คือกิจกรรมล้อมวงเล่นเกมเหมือนเวลาที่เขาล้อมวงรอบกองไฟ พวกเกมลมเพลมพัด เกมปลาใหญ่ปลาเล็ก อะไรพวกนั้น เด็กบ้านนอกหลายคนไม่เคยเจอกิจกรรมสนุกๆ อย่างนี้ บางคนก็สนุกจนเพลิน เพลินไปว่าเพื่อนๆ อีกหลายคนที่นี่เก่งระดับถ้าเอาคะแนนเราไปตัดเกรดด้วยแล้วละก็ เราไม่มีสิทธิ์ได้เอได้บีกับเขาเลย

ผมผ่านเทอมแรกด้วยคะแนนที่เรียกได้ว่าเส้นยาแดงผ่าแปด ประมาณเอาเองว่าถ้ากาข้อสอบพลาดไปอีกสักข้อผมก็อาจจะสอบตกไปแล้ว หลังจากนั้นผมก็พยายามกลับมาเรียนให้มากขึ้น

และเมื่อช่วงไหนผมรู้สึกตัวว่าชักหลงระเริงมากเกินไป ผมก็จะงัดเอารองเท้าหนังคู่ที่ผมสวมมาเรียนวันแรก ขึ้นมาใส่ให้มันกัดเท้าเตือนใจ เตือนใจว่าเรามาที่นี่ทำไม

กลับไปนึกถึงอดีตวันนั้น ผมเห็นภาพเด็กต่างจังหวัดคนหนึ่งสนุกเพลินจนลืมเรียน แล้วก็เห็นภาพเด็กอีกคนหนึ่งยิ่งเห็นคนอื่นเรียนตัวเองก็ยิ่งมุเรียน จากนั้นก็กลายเป็นภาพเด็กสองคนเล่นเกมในงานรับน้องกัน เกมปลาใหญ่ปลาเล็ก เคยเล่นไหมครับคนสั่งจะพูดว่าปลาใหญ่หรือปลาเล็กพร้อมกับทำมือกว้างทำมือแคบหลอกล่อ คนถูกสั่งต้องทำมือให้ถูกกับคำพูดไม่ไปทำตามมือของคนสั่ง นึกถึงวันคืนเก่าๆ แล้วใจมันกระชุ่มกระชวยบอกไม่ถูก

แล้วก็ได้คิดอะไรต่ออะไรไปข้างหน้าด้วย

พอคิดเรื่องนี้แล้วก็ทำให้นึกไปถึงเรื่องเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องการจับปลาของคนญี่ปุ่น

กว่าสามสิบปีที่ผ่านมานี้ปลาตามชายฝั่งทะเลของญี่ปุ่นเริ่มลดน้อยลง ชาวประมงจึงต้องแล่นเรือไกลชายฝั่งออกไปอีกเพื่อจับปลาให้ได้จำนวนเท่าเดิม ระยะทางที่ไกลออกไปทำให้ปลาที่จับมาได้ตายก่อนถึงฝั่ง ห้องเย็นบนเรือจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเรือประมงเพื่อทำหน้าที่รักษาเนื้อปลาให้ยังสดอยู่ แต่ชาวญี่ปุ่นที่นิยมปลาดิบนั้นเขาแยกแยะรสชาติของปลาที่เพิ่งตายใหม่ๆ กับปลาที่ถูกแช่ห้องเย็นมานานๆ ได้ ทำให้ชาวประมงต้องหาวิธีใหม่

แท็งก์น้ำขนาดใหญ่ถูกติดตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหานี้

เมื่อชาวประมงจับปลาได้ ปลาจะถูกปล่อยลงในแท็งก์น้ำเพื่อให้พวกมันแหวกว่ายอยู่ในนั้น และเมื่อถึงฝั่งแม้จะผ่านมาหลายอาทิตย์พวกมันก็ยังเป็นปลาเป็นอยู่

ถึงกระนั้นคอปลาดิบชาวญี่ปุ่นก็ยังแยกออกว่าเนื้อปลาเป็นๆ พวกนี้ไม่เหมือนปลาที่เพิ่งจับได้ ปลาพวกนี้กลายเป็นปลาที่ง่อยเปลี้ย นั่นคือแหวกว่ายอยู่ในแท็งก์น้ำอย่างแออัด และแท็งก์ก็โคลงไปโคลงมาตามลักษณะของเรือที่แล่นในทะเล เมื่อมาถึงฝั่งแม้จะมีชีวิตแต่ก็เป็นชีวิตที่ไม่แข็งแรง คงเหมือนเวลาเราไปซื้อปลาตู้จากร้าน แล้วเขาเอาปลาใส่ถุงใหญ่ๆ ให้เรานั่นกระมัง รถที่วิ่งอยู่มันคงทำให้น้ำในถุงแกว่งไปมา ผมว่าปลามันคงเมานะครับ ยิ่งถ้าเดินทางไกลๆ นี่บางตัวจะไม่รอดเอาก็มี

ปัญหาเรื่องปลาเปลี้ยไม่ทำให้ชาวประมงยอมแพ้อยู่แค่นี้ พวกเขาหาหนทางใหม่ๆ อีก

คราวนี้เขาใช้วิธีที่เรานึกไม่ถึง นั่นคือนอกจากจะปล่อยปลาที่จับได้ลงในแท็งก์แล้ว เขายังปล่อยปลาฉลามตัวขนาดย่อมๆ ลงไปตัวหนึ่ง ปล่อยลงไปรวมกับพวกปลาที่จับได้นั่นแหละ

เกิดอะไรขึ้นละครับที่นี้ ปลาในแท็งก์อยู่ไม่สุขแล้ว ต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ปลาใหญ่จะมากินปลาเล็กแล้วนี่ครับ จะมามัวเมาเรืออยู่ได้อย่างไร ถ้าจะถามว่าแล้วปลาฉลามไม่กินปลาที่อยู่ในแท็งก์หรือ พวกเขาบอกว่ายอมรับได้ที่จะเสียปลาพวกนั้นไปบ้าง แต่ปลาที่เหลือรอดมาได้ล้วนเป็นปลาแข็งแรงมีชีวิตชีวาตามที่คอปลาดิบต้องการ

ฟังเรื่องนี้จบแล้วคิดถึงอะไรบ้าง

บางคนอาจสนุกกับความเรื่องมากของคอปลาดิบ บางคนอาจชื่นชอบเรื่องราวของการไม่ยอมจำนนต่อปัญหาต่างๆ ของชาวประมงญี่ปุ่นจนหาวิธีแก้ปัญหาได้อย่างคาดไม่ถึง แต่ที่น่าสนใจมากที่สุดสำหรับผมก็คือผมชักอยากจะเอาปลาฉลามปล่อยลงในใจตัวเองบ้างเสียแล้ว

ต้นโอ๊คในถิ่นที่มีพายุแรงๆ ก็เป็นตัวอย่างที่ดีอันหนึ่ง นักพฤกษศาสตร์อเมริกันพบว่าต้นโอ๊คแถวเท็กซัสที่ลมพายุค่อนข้างแรงจะหยั่งรากลึกกว่าต้นโอ๊คทั่วๆ ไป

สำหรับคนหนุ่มสาว ทะเลของเธอยังมีปลาดีๆ ที่จะให้จับมากมายรวมไปถึงปลาฉลามดุๆพวกนั้นด้วย พูดได้ว่าทะเลของคนหนุ่มคนสาวนั้นย่อมมีปลาชุกชุมมาก และฉลามก็ดุมากเช่นกัน

มุ่งมาดปรารถนาจะจับปลาเล็กจำนวนมากแค่ไหนหรือจะปล่อยปลาใหญ่ลงไปแท็งก์เท่าใด ก็คงต้องแล้วแต่ความใฝ่ฝันและศักยภาพของแต่ละคน

มองเรื่องนี้หลายๆ มุมนะครับ พ่อแม่บางคนปล่อยฉลามลงไปในใจลูกมากเกินไป จนมันกินปลาเล็กปลาน้อยหมดแท็งก์ เราก็เคยเห็นกันมาแล้ว

หน้า 17
--------------------------------------------------------------------------------


วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 ปีที่ 27 ฉบับที่ 9752

เหมือนก่อไฟก่อฟืนแล้วไฟคุ
===============
คอลัมน์ คุยกับประภาส

โดย ประภาส ชลศรานนท์

โอ้หน้าหนาวแล้วหนาเจ้าข้าเอ๋ย

กระไรเลยยังร้อนรุ่มทุกเรือกไร่

ใครมาบอกวิบัติคงขัดใจ

ทั้งที่ไฟไล่รุนใต้ถุนเรือน

ถึงยามนอนนอนไม่หลับคล้ายจับจด

หวาดไปหมดบ้านใต้ใครจะเหมือน

พระพายซ่านผ่านล่วงทรวงสะเทือน

อีกกี่เดือนล่วงลับจะดับลง

ฝ่ายหนึ่งนั่งตั้งแง่แต่เรื่องเก่า

อีกฝ่ายเย้าแยกยุดที่พุทธสงฆ์

แบ่งมนุษย์มุสลิมให้ร้าวลง

ฝ่ายหนึ่งถือมั่นคงตรงอุบาย

ฝ่ายหนึ่งมุ่งพุ่งตรงประจงจ้อง

เหมือนไม่ใช่พี่น้องคลองร่วมสาย

ทุกวารวันฟันคอให้ขาดตาย

ต้องเป็นผีกี่ร้อยรายไม่เว้นวาง

ที่ตากใบวิปโยคโลกย่อมเศร้า

ธูปและเทียนเปลี่ยนเข้าทุกกระถาง

คนละใจสองใจมอบให้พลาง

อีสานกลางยังปันทุกวันคืน

มีอะไรเราก็แบ่งไม่แคลงจิต

เนาอย่างมิตรคิดอย่างญาติไม่ขัดขืน

คริสต์หรือพุทธมุสลิมเรากลมกลืน

ยังแช่มชื่นชิดกันเป็นสันดาน

เลิกหักโหมโจมจับสัประยุทธ์

ให้ม้วยมุดยับแยกแตกกระสาน

ชัยชนะบนซากพังไม่กังวาน

เหมือนเผาถ่านได้เถ้าเอาอันใด

พระแม่ของแผ่นดินยังทรงตรัส

ให้เร่งรัดสร้างสันติทันวิสัย

อย่ามัวคิดหลบหลีกว่าอีกไกล

พี่น้องพบประสบภัยไม่ไกลเลย

เหมือนก่อไฟก่อฟืนแล้วไฟคุ

สะเก็ดแตกปุปุพ่อคุณเอ๋ย

กระดอนติดกองฟางสว่างเลย

อย่าแชเชือนเฉยๆ เพราะชินตา

ขอพรองค์อัลเลาะห์อัลหล่าเจ้า

สยามท้าวเทวราชที่รักษา

พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงเมตตา

ช่วยดับไฟให้ประชาร่มเย็นเทอญฯ

หน้า 17
--------------------------------------------------------------------------------


วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 ปีที่ 27 ฉบับที่ 9759

พับนก

คอลัมน์ คุยกับประภาส

โดย ประภาส ชลศรานนท์

คุณประภาสขอรับ

ฟังครั้งเเรกๆ ผมก็ชอบอยู่หรอกขอรับ พับนกเพื่อสันติภาพเนี่ย เเต่มานั่งนึกดูดีๆ ผมว่ามันน่าจะมีข้อเสียมากกว่าข้อดี ที่เห็นชัดๆ เลยก็คือมันสิ้นเปลืองทรัพยากร ทั้งกระดาษเป็นล้านๆ แผ่น ค่าน้ำมันรถขนส่งไปภาคใต้ ค่าน้ำมันเครื่องบินที่ต้องขับขึ้นไปโปรย แรงงานคนอีกตั้งเท่าไหร่ รัฐบาลเองก็พูดปาวๆ ตลอดว่าให้ช่วยกันประหยัดแล้วมาทำเสียเองแบบนี้ นี่ยังไม่รวมค่าเก็บกวาดขยะอีกไม่รู้อีกเท่าไหร่อีกนะขอรับ เอาเงินไปส่งเสริมแผนรักษาความสงบไม่ดีกว่าฤๅ

ขุนเดช

สวัสดีพี่ประภาส

เพื่อนของผมบางคนบอกว่าการรณรงค์ให้คนพับนกไร้สาระ พับไปเท่าไรโจรภาคใต้ก็คงยังก่อการร้ายต่อไป ผมมองอีกมุมครับ ผมเห็นว่าการพับนกทำให้ได้อะไรหลายๆ อย่างแถมมาด้วย นอกจากการส่งกำลังใจไปภาคใต้ เช่น คนไทยจะรักชาติมากขึ้น โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ชอบทำตามกระแส อีกอย่างหนึ่งการที่วัยรุ่นหันมาพับนกกันเยอะๆ จะทำให้พวกเขาสนใจข่าวสารมากขึ้น และมีความรู้ในเรื่องของสถานการณ์ในประเทศมากขึ้น

ที่สำคัญเรื่องการให้กำลังใจคนดีดีนั้น ผมว่าเราต้องทำ

รามอินทรา

เรียนคุณอาประภาส

ที่โรงเรียนผม ครูหลายคนคุยกันเรื่องพับนกว่าเป็นเรื่องเปลืองทรัพยากรแต่คุณครูท่านหนึ่งพูดไว้ดีครับ ท่านบอกให้ลองคิดดูว่าเราเสียกระดาษคนละไม่กี่แผ่นแต่มันช่วยทำให้คนอื่นๆ ที่เค้ากำลังประสบความมทุกข์ได้มีกำลังใจ ผมเห็นด้วยกับคุณครูว่ามันคุ้มนะครับ ... เหมือนเราจะไปเยี่ยมคนป่วย เราต้องคิดเล็กคิดน้อยด้วยเหรอว่าซื้อดอกไม้ไปเยี่ยมมันสิ้นเปลืองมั้ย

ส่วนเรื่องการเก็บกวาดเนี่ย คุณครูบอกว่าสิ่งที่โปรยคือกระดาษบางๆ ไม่ใช่พลาสติกที่ต้องใช้เวลาถึงห้าหกร้อยปีถึงจะสลาย เราลอยกระทงกันทั่วประเทศเรายังเก็บกวาดกันไหว กะแค่นก 62 ล้านตัว ไม่น่าจะยากอะไร อยากฟังความคิดเห็นคุณอาประภาสดูบ้าง

เด็กหลังห้อง

สวัสดีค่ะคุณประภาส

ฟังวิทยุในรถวันก่อน โฆษกอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ให้ฟังถึงแนวทางในการแก้ปัญหาภาคใต้ของรัฐบาลด้วยการพับนกสันติภาพแล้วส่งเป็นกำลังใจ ฟังดูน่าสนใจและแอบดีใจที่รู้สึกว่าบรรยากาศน่ากลัวทั้งหลายน่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น แต่พอโฆษกบอกว่าหลังจากโปรยนก จะมีการจับรางวัลอีกด้วยใครเก็บนกได้ได้รางวัล สามีดิฉันที่กำลังขับรถอยู่ร้องลั่นรถเลยว่า นี่มันจะเอารางวัลมาล่อกันเลยหรือนี่ นกสันติภาพกลายเป็นกระดาษชิงโชคไปซะแล้ว

เหมียว

คุณประภาส

คุณประภาสพอจะรู้ไหมคะว่า ใครเป็นต้นความคิดเรื่องพับนกสันติภาพส่งไปภาคใต้ กลุ่มนักวิชาการที่เข้าไปพบนายกใช่หรือเปล่าคะ ดิฉันขอแสดงความชื่นชมคนต้นคิดค่ะ

บุหงา

นั่งคุยกับคนหลายคนเรื่องพับนก 62 ล้านตัว ส่งไปให้ภาคใต้แล้ว มากกว่าครึ่งเห็นด้วยกับกิจกรรมชักชวนให้ผู้คนในชาติมาสมัครสมานสามัคคีกันอย่างนี้ และในครึ่งหนึ่งของคนที่เห็นด้วยมักจะแถมคำว่า แต่ ตามมาด้วย

แต่ ของทุกคนที่หมายเหตุไว้คือ มันมีอีกความรู้สึกหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับเรื่องที่จะส่งกระดาษจำนวนมากมายมหาศาลไปโปรยให้กลายเป็นขยะที่นั่น

วันนี้ผมเอาจดหมายหลายฉบับมาลงไว้เผื่อบางฉบับจะได้เป็นคำตอบของบางคำถามของท่านผู้อ่านได้ด้วย

ตอบคุณบุหงาเรื่องคนต้นคิดนะครับ เท่าที่ผมรู้มา ก่อนที่การรณรงค์เรื่องพับนกจะถูกทำโดยจริงจังโดยภาครัฐ มีหน่วยงานเอกชนหน่วยหนึ่งชื่อ กลุ่มดอกไม้และนกกระดาษเพื่อสันติภาพ ที่มีคุณสุมิธ แช่มประสิทธิ์ เป็นประธานกลุ่ม กำลังริเริ่มที่จะตระเวณรณรงค์เรื่องนกสันติภาพนี้ก่อน หลังจากนั้นคงจะมีนักวิชาการนำความคิดนี้ไปขยายวงกว้างระดับรัฐบาล

ส่วนที่มาจริงๆ ของเรื่องพับนกสันติภาพนี่ ต้นตอแรกสุดเลยมาจากญี่ปุ่นครับ น่าจะเคยได้อ่านกันมาบ้างแล้ว เรื่องซาดาโกะนกกระเรียนพันตัว ขออนุญาตเล่าให้ฟังตรงนี้เลย

หลังสงครามโลกครั้งที่สองผ่านไป 11 ปี เด็กหญิงซาดาโกะ ซาซากิ ซึ่งได้รับพิษจากกัมมันตรังสีของระเบิดปรมาณูที่มาถล่มเมืองฮิโรชิมา เริ่มแสดงอาการป่วยของโรคมะเร็งในเม็ดเลือดชัดเจนขึ้น

ความเจ็บปวดนั้นห่อหุ้มไปทั่วร่างกายของซาดาโกะ เธอร้องไห้แทบจะตลอดเวลาที่อยู่โรงพยาบาล และเมื่อชิซูโกะเพื่อนรักมาเยี่ยมพร้อมกับนำกระดาษที่พับเป็นรูปนกมาให้ พร้อมกับเล่าตำนาน ซูรุ-นกกระเรียนให้ซาดาโกะฟังเพื่อหวังให้เธอเกิดความสบายใจ เธอก็เริ่มมีความหวังขึ้น

ตามตำนาน ซูรุเป็นนกศักดิ์สิทธิ์และเป็นสัญลักษณ์ของความโชคดีมีสุข ว่ากันว่าคนเจ็บไข้ได้ป่วยหากสามารถพับนกกระเรียนได้ถึง 1,000 ตัว อาการเจ็บป่วยก็จะทุเลาขึ้น ซาดาโกะฟังตำนานจากชิซูโกะแล้ว จึงมีกำลังใจมากขึ้นเด็กหญิงตัวน้อยกัดฟันลุกขึ้นจากเตียงเพื่อเริ่มพับนก อาจจะเป็นความสะท้อนใจจากสงครามทำให้เธอเขียนคำว่า "สันติภาพ" ลงไปบนปีกของนกทุกตัวที่เธอพับด้วย ครอบครัวและเพื่อนๆ ของซาดาโกะเห็นเธอมีกำลังดีขึ้นจึงได้ช่วยกันพับนกกระเรียนจนครบ 500 ตัว

ไม่รู้จะด้วยปาฏิหาริย์ของนกกระเรียนหรือกำลังใจที่เข้มแข็งขึ้น อาการของซาดาโกะค่อยๆ ดีวันดีคืน จนหมอที่รักษาซาดาโกะยอมให้ครอบครัวของเธอพาซาดาโกะกลับไปรักษาตัวที่บ้านได้

แต่แล้วในที่สุด พิษร้ายของกัมมันภาพรังสีก็ยังคงแสดงอานุภาพไม่หยุดหย่อน อาการป่วยของเธอกลับมากำเริบอีกครั้ง แต่คราวนี้ซาดาโกะกลับมีกำลังใจมุ่งมั่นที่จะพับนกกระเรียนทุกวัน แม้จะต้องต่อสู้กับความเจ็บปวดเจียนตาย

ซาดาโกะกลับเข้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลอีกครั้ง และในวันที่เธอพับนกกระเรียนตัวที่ 664 เสร็จ วิญญาณของเธอก็ยอมแพ้ต่อโรคร้าย

ด้วยความเศร้าโศกเสียใจของการจากไปของซาดาโกะ เพื่อนๆ ของเธอจึงช่วยกันพับนกกระเรียนจนครบ 1,000 ตัว แล้วนำไปใส่ไว้ในโลงศพของเธอเพื่อเป็นการไว้อาลัย

จากเรื่องราวของซาดาโกะนกระเรียนพันตัวนี่แหละครับ การพับนกกระดาษจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้องสันติภาพของคนทั้งโลก

ถ้าถามผมว่าผมคิดอย่างไรกับเรื่องการพับนกในเมืองไทยครั้งนี้

ผมเห็นด้วยครับ มีร้อยคะแนนผมก็เห็นด้วยร้อยคะแนน

แต่ขอเสนอได้ไหมครับ

หลังจากอ่านจดหมายหลายสิบฉบับเกี่ยวกับเรื่องพับนกแล้ว ผมก็เลยลองเข้าไปค้นไปอินเตอร์เน็ตดูว่า มีการรณรงค์กันไปถึงไหนแล้ว แทบจะทุกหน่วยงานเลยครับ ไม่ว่าจะกองทัพบก กองทัพเรือ กระทรวง อบต. ผู้ว่าฯ บริษัทต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่เว็บบอร์ดเล็กๆ ของโรงเรียนมัธยม

ถึงตอนนี้ผมว่าเราคงมีนกกระดาษรอที่จะส่งไปภาคใต้ไม่น้อยกว่า 62 ล้านตัว แล้ว

ไม่ต้องโปรยหมดทั้ง 62 ล้านตัว ได้ไหมครับ แบ่งมาโปรยสักแสนสองแสนก็พอแล้ว หรือถ้าอยากได้เยอะก็สักล้านตัวก็น่าจะเหลือเฟือ

หาที่เหมาะๆ สักแห่งสองแห่งในสามจังหวัดภาคใต้ แล้วถ่ายทอดโทรทัศน์การโปรยนกครั้งนี้ให้สวยงาม(สถานที่ๆ ว่านี้ก็น่าจะง่ายต่อการเก็บกวาดด้วย)

ส่วนเรื่องเก็บนกเพื่อชิงโชคนี่ เห็นด้วยกับคุณเหมียวครับว่าผิดกาละเทศะอย่างมาก

สำหรับนกที่เหลือ หรือนกที่ยังไม่ได้ส่งไปภาคใต้เรานำมาแขวนไว้หน้าบ้าน หน้าที่ทำงาน วางบนโต๊ะของใครของมัน หรือจะห้อยไว้หน้ารถ ตามสถานที่ต่างๆ จะแขวนเป็นโมบายด์สวยๆ ก็ไม่เลว เอาให้ทั่วประเทศเลยครับ ทุกบ้านทุกตำบล ทุกจังหวัด ทุกร้านค้า(ดูแลความสะอาดกันเอง ของใครของมัน ) สถานที่ตรงไหนคนผ่านมาเยอะหน่อยก็ทำนกตัวใหญ่หน่อย กินเนสส์บุ๊กฯจะมาบันทึกหรือเปล่าถือเป็นของแถม

แสดงสัญลักษณ์ให้คนทั้งโลกรู้ว่า หัวใจคนไทยจริงๆ แล้วไซร้นั้นรักสันติเพียงใด

หน้า 17
--------------------------------------------------------------------------------

วันที่ 05 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ปีที่ 27 ฉบับที่ 9766

หมูยอของคำใส

คอลัมน์ คุยกับประภาส

โดย ประภาส ชลศรานนท์

แม่เภามีคำถามอยู่คำถามหนึ่งที่อยากจะถามคำใส เพื่อนร่วมหอ มาตลอด

มันเป็นคำถามเกี่ยวกับหมูยอของคำใสนี่แหละ แต่ไม่รู้จะด้วยความเกรงใจหรืออะไรสักอย่าง ทำให้ยังไม่สบช่องสักที ถึงวันนี้แล้วแม่เภาคิดว่าคงต้องหาโอกาสถามให้ได้

พูดถึงหมูยอนี่ ไม่ว่าใครในหอนี้ก็ต้องรู้ว่าหมูยอของคำใสนั้นอร่อยขนาดไหน

และเป็นที่รู้กันอีกว่า ถ้าวันไหนเป็นวันที่คำใสกลับจากต่างจังหวัด สาวๆ ชาวหอจะต้องมารวมตัวกันที่ร้านเจ๊เกียว ใต้ถุนหอ เพื่อรออาหารสุดอร่อยโดยมิต้องนัดหมาย เพราะทุกครั้งที่คำใสกลับบ้าน เธอจะต้องหอบเอาหมูยอสูตรของครอบครัวมาฝากเพื่อนๆ ชาวหอให้ได้อร่อยกันถ้วนทั่ว

รถบัสกำลังวิ่งอยู่

เสียงเพลงท้ายรถก็ดังระงมด้วยความสนุกสนาน

บ้างก็อ้างว่าเป็นเพราะความอยากไปเที่ยวอีสาน บ้างก็พูดตรงๆ ว่า เพราะความอยากกินหมูยอสูตรเด็ดมากกว่า แต่ไม่ว่าจะเหตุผลใดก็ตาม วันนี้ซึ่งเป็นวันแรกของการปิดเทอม รถบัสคันย่อมๆ คันนี้กำลังพานักศึกษาสาวๆ จากกรุงเทพฯ มุ่งสู้หนองคายบ้านเกิดของคำใส

"ฉันคิดถึงเธอ หมูยอ ยอดยาหยี อย่าหนีพี่ไปไหนเลย" เสียงเพลงแต่งขึ้นเองสดๆ ดังขึ้นมาจากท้ายรถบัส ต้นเสียงนั้นใครๆ ก็จำได้ว่าคือแม่แต้วตัวแสบประจำหอ

ตามด้วยเสียงหัวเราะและเสียงร้องตามเป็นจังหวะแทบทั้งคันรถ

"เห็นแก่กินจังนะยายแต้ว" แม่เภาร้องแหย่แต้วต้นเสียงร้องเพลงจากท้ายรถ

"ใครไม่กินอย่าบอกแฟน ฉันจะกินแทนให้เอง ลาลาล้า...ลาลาล้า..." แต้วร้องตอบขึ้นเป็นเพลงทำนองคุ้นๆ หูต่อทันที

"หมูยอยักษ์...หมูยอยักษ์...ลาลาลา" เพลงแต่งสดของแต้วยังคงบรรเลงต่อ

แม่เภาแทบจะระเบิดเสียงหัวเราะตามจินตนาการของตัวเองที่นึกถึงขนาดของหมูยอบ้านคำใส

แต่หมูยอบ้านคำใสมีขนาดใหญ่จริงๆ ไม่ว่าใครก็ต้องตาโตเมื่อเห็นครั้งแรก

"หรือเป็นเพราะว่ามันใหญ่มันหนามากหรือเปล่า มันถึงได้นุ่มฟันนุ่มลิ้นอย่างนั้น" แม่เภาเคยถามเจ๊เกียวด้วยเห็นว่าเป็นแม่ครัว "ไม่น่าจะเกี่ยวกับหนานะ" เจ๊เกียวตอบ "เจ๊เคยกินแบบหนาๆ อย่างนี้ก็หลายเจ้าแล้ว หาอร่อยมาก จะว่าไปของต้มของทอดนี่ยิ่งหนายิ่งทำยาก"

"หมูยอบ้าอะไรยังกับต้นกล้วย" แม่ตุ้มรูมเมตของแม่เภาเปรียบเทียบได้ถูกใจที่สุด คำใสเองยังหัวเราะขันกับคำเปรียบเปรยของเพื่อนๆ ถึงหมูยอจากบ้านเกิดของเธอ

"มันใหญ่มานานแค่ไหนแล้วคำใส รุ่นเธอหรือรุ่นแม่เธอ" แม่เภาซะโงกหน้าไปถามคำใสที่นั่งห่างออกไปอีกแถวหนึ่ง

"เฮ้ย...เภาต้องถามใหม่ ถามอย่างนั้นได้อย่างไร มันต้องถามว่ามันอร่อยมานานแค่ไหนแล้วต่างหาก" แต้วพูดแซงขึ้นมาจากด้านหลังรถ

"ไม่รู้สิ" คำใสหันมาตอบ "ฉันเกิดมาฉันก็เห็นแม่ฉันทำขนาดเท่านี้แล้ว น้าฉัน พี่สาวฉันก็ทำขนาดนี้ไม่ผิดกัน"

แม่เภาอ้าปากจะถามคำถามที่อยู่ในใจ เสียงแต้วก็ดังขึ้นมาแซวจากท้ายรถอีก

"ใส่กัญชาหรือเปล่าแม่คำใส คนกินถึงได้ติดใจกันไปขนาดนี้"

เสียงหัวเราะดังขึ้นมารับคำพูดของแต้ว

"ไม่มี รับรอง แม่ฉันทำให้กินตั้งแต่เด็กแล้ว" คำใสรีบโบกมือปฏิเสธ

"นั่นสิ แม่ที่ไหนจะให้ลูกกินกัญชา" แม่เภาหันไปค้อนแต้ว

รถวิ่งไปอีกสักครู่ใหญ่ แม่เภาจึงตัดสินใจลุกจากที่นั่งตัวเองไปนั่งข้างๆ คำใส คำใสเห็นแม่เภาย้ายที่นั่งมา ก็ใจดีเขยิบก้นให้

"ถามอะไรหน่อยสิ อยากรู้มานานแล้ว เคยถามเจ๊เกียวแล้วเจ๊เกียวแกก็ตอบไม่ค่อยได้" แม่เภาเอ่ยปาก

"เอาสิเภา เรื่องอะไรหรือ" คำใสยิ้ม

"เรื่องหมูยอของคำใสนั่นแหละ" แม่เภาทำหน้าเกรงใจ

"มีอะไรหรือ" คำใสถาม

แม่เภาแหงนหน้านึก แล้วก็ตัดสินใจพูด "คืออย่างนี้ ฉันเคยสังเกตมานานแล้วว่า ทุกครั้งที่คำใสเอาหมูยอมาจากบ้านมาฝากให้พวกเรากินที่หอ ตอนที่จะเอาหมูยอลงต้มอีกครั้ง ทำไมคำใสต้องหั่นหัวหั่นท้ายออกข้างละเกือบครึ่งนิ้วทุกทีเลย" แม่เภาลดเสียงลง "มันมีความหมายอะไรหรือเปล่า"

"อืมม์..." คำใสมองหน้าเภา "เภา ใครๆ เขาก็ว่าเธอเป็นคนช่างสังเกต ฉันไม่นึกว่าเธอจะช่างสังเกตขนาดนี้ แต่บอกตรงๆ นะ ฉันก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม"

"อ้าว" แม่เภาทำหน้าผิดหวัง

"เห็นแม่ทำ ฉันก็ทำตาม" คำใสตอบง่ายๆ แต่พอเห็นแม่เภาทำหน้าคล้ายไม่เชื่อ คำใสจึงยืนยันอีกที "จริงๆ"

"ฉันเคยตั้งข้อสันนิษฐานว่า หรือการทำอย่างนั้นมันทำให้อร่อยขึ้น" แม่เภาอธิบายความคิดตัวเอง

"หรือกันไม่ให้น้ำซึมเข้าเนื้อมากเกินไป" เสียงพี่สมรที่นั่งอยู่อีกข้างคำใสด้านที่ติดหน้าต่างโผล่หน้าออกมาเสริมความเห็น

"แต่มันก็ซึมเข้าด้านข้างได้อยู่ดี" เภาแย้ง

"หรือมันเป็นส่วนที่แข็ง ต้องหั่นทิ้งเพราะไม่อร่อย" น้องแดงที่นั่งถัดไปข้างหลังคงได้ยินบทสนทนาจึงเอี้ยวตัวออกความเห็น

"ตรงที่หั่นทิ้งไปมันก็ไม่แข็งนะ" คำใสติง

"เกี่ยวอะไรกับความเชื่อหรือเปล่า แม่ของคำใสมีเชื้อลาวพวนไม่ใช่หรือ" แม่เภาพูดคำถามที่อยากถามมากที่สุดออกมาจนได้ "คำใสอย่าโกรธนะ ที่เรียกลาวพวน"

"ไม่โกรธหรอก ก็ฉันเป็นลาวจริงๆ นี่" คำใสยิ้มเปิดเผย "เอ..แต่เรื่องหั่นหัวหั่นท้ายทิ้งนี่ ฉันก็ไม่เคยถามแม่สักที เราไปเจอแม่คราวนี้ เภาลองถามดูเลยก็ได้ แม่ใจดีออก"

................................................................

ที่บ้านคำใส หนองคาย

แคร่ไม้ที่หน้าบ้านถูกสาวๆ จากกรุงเทพฯ จับจองนั่งล้อมวงกินอาหารอีสานอย่างสนุกสนาน และที่กลางวงของจานอาหารหลายสิบจาน จานหมูยอจากฝีมือแม่ของคำใสลอยเด่นเป็นพระเอกของมื้อ

"ยัยแต้วนี่เธอกะจะไม่กินอย่างอื่นบ้างเลยหรือไง" พี่สมรร้องลั่นขึ้นเมื่อหมูยอที่อยู่กลางวงหมดไวจนหั่นไม่ทัน

"หมูยอชิ้นใหญ่ๆ หนาๆ อย่างนี้ จะไปกินอย่างอื่นทำไมพี่สมร ส้มตำลาบก้อยนี่กรุงเทพฯก็มีกิน" แต้วร้องตอบ "เออแล้วนี่ยัยเภาหายไปไหน เดี๋ยวฉันจะกินหมูยอคำเดียวทั้งชิ้นโดยไม่ต้องกัดให้ดู อยู่บนรถท้าตีนัก"

เพื่อนๆ เหลียวหาเภา คำใสได้ยินเพื่อนๆ เรียกเภาก็นึกขึ้นมาได้

"เมื่อกี้เห็นเดินเข้าไปในครัว" คำใสพูดขึ้น "สงสัยจะไปถามแม่เรื่องหั่นหมูยอหัวท้ายก่อนทอด"

"เภานี่ ขี้สงสัยสมกับเรียนหนังสือพิมพ์จริงๆ" คำใสเดินตามเข้าไปในครัว

ไม่ทันจะเข้าไปในครัว เภาก็เดินสวนออกมาพอดี

"เป็นอย่างไรเล่าเภา ได้คำตอบหรือยัง"

เภาสั่นหน้า "แม่เธอบอกว่าไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมต้องหั่น แม่ก็หั่วหัวหั่นท้ายทิ้งอย่างนี้มาตั้งแต่เริ่มทำหมูยอเป็น เห็นยายของเธอทำ แม่ก็ทำตามมาอีกที"

"จริงสิ มานึกๆ ดู พวกน้าๆ เขาก็หั่นหัวท้ายทิ้งกันทุกคนเหมือนกัน" คำใสให้ข้อมูลเพิ่ม "แล้วนี่เธอจะไปไหน เภา"

"ไปท้ายวัด แม่เธอบอกทางแล้ว" เภาตอบ

"เดี๋ยว...เดี๋ยว...อย่าบอกว่านะเธอกำลังจะไปหายายฉัน" คำใสยิ้มเอ็นดูเพื่อน "เธอนี่มันแม่นักข่าวตัวจริงเลย"

"ไม่รู้สิ อะไรมันค้างในใจแล้วอีดอัด" เภาตอบ "ฉันอยากรู้จริงๆ ว่ามันเกี่ยวกับความเชื่อของลาวพวนอะไรหรือเปล่า แม่เธอบอกว่า ยายเธอเป็นแม่ชีอยู่ท้ายวัด ฉันจะลองเดินไปถามยายดู ฉันอยากรู้จริงๆ"

"ไป ฉันจะพาเธอไปเอง เธอนี่น่านับถือจริงๆ" คำใสจูงมือเพื่อนเดินนำไป

"แต่ฉันไม่รับประกันนะว่าเธอจะได้คำตอบที่เธอต้องการหรือเปล่า ยายฉันเป็นคนไม่ช่างพูดเสียด้วย"

(อ่านต่อฉบับวันอาทิตย์หน้า)

หน้า 17
--------------------------------------------------------------------------------

วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ปีที่ 27 ฉบับที่ 9723

หมูยอของคำใส(จบ)
===========
คอลัมน์ คุยกับประภาส

โดย ประภาส ชลศรานนท์

เสียงพระสวดมนต์แว่วมาจากโบสถ์ แม้จะฟังไกลๆ จากตรงนี้เภาก็รู้สึกได้ถึงความสงบ เภานั่งพิงเสาไม้หลับตานึกไปถึงตอนเด็กๆ

อาจจะเป็นเพราะความทรงจำหรือความเคยชินดีๆ กับเสียงสวดมนต์ของหลวงน้า ที่เภาได้ยินเวลาไปนั่งอ่านหนังสืออยู่ใต้ถุนกุฏิเมื่อครั้งยังเรียนโรงเรียนวัดก็ได้ ทำให้เภารู้สึกดีทุกครั้งที่ได้ยินเสียงสวดมนต์

คำใสพาเภามาถึงเรือนของยายตั้งนานแล้ว เผอิญมาปะเข้ากับเวลาทำวัตรเย็นของพระวัดนี้พอดี คำใสเลยต้องจูงเภามานั่งรอยายที่นอกระเบียง

"ยายแกเคร่ง"คำใสกระซิบ "ถึงแกเป็นชีแต่แกสวดมนต์พร้อมพระ"

เภายิ้มแทนคำตอบ เสียงสวดมนต์ของยายคงเบามากจนเภารู้สึกว่าได้ยินเสียงของพระที่มาจากโบสถ์มากกว่า

"ที่นี่สวดยืดกว่าแถวบ้านฉันนะคำใส" เภาชวนคุย "แถวลำปาง เชียงรายนี่ว่าสวดยืดแล้วนะ"

"เธอฟังออกหรือ"

"ฉันชอบฟังนะ โทนเสียงของพระเวลาสวดมนต์ทำให้ใจนิ่งดีนะ"

"แล้วเภาฟังรู้เรื่องไหม"

เภาส่ายหน้า "เคยอยากเรียนบาลีให้รู้แล้วรู้รอดไปเลยเหมือนกันนะคำใส"

"เธอพูดยังกะว่าหาที่เรียนได้ง่ายๆ อย่างนั้น" คำใสช่วยต่อประโยคที่อยู่ในใจแม่เภา

"เอ แล้วพระสงฆ์ส่วนใหญ่ที่สวดกันอยู่นี่ ท่านรู้ความหมายไหม"

"ไม่รู้สิ ก็คงจะมีทั้งรู้และก็ไม่รู้นะ"

แล้วทั้งสองก็เงียบไปอีกพักใหญ่ เหมือนจะพยายามเงี่ยหูฟังว่ายายของคำใสสวดมนต์จบหรือยัง เสียงจากบนเรือนแม่ชีไม่พอบอกอะไรได้มากนัก ทั้งสองเลยต้องคอยเงี่ยหูฟังเสียงจากโบสถ์ซึ่งยังคงแว่วอยู่

"บางทีนะ ฉันก็เคยคิดว่าเราฟังพระสวดมนต์นี่เราเหมือนจะเอาเพียงแค่เป็นสิริมลคลแก่ตัวแค่นั้นหรือเปล่า ไม่ได้อยากรู้ความหมายในประโยคจริงๆ" เภาเอ่ยขึ้นอีก

"ถ้าเรารู้แล้ว อาจจะทำให้ความขลังหายไปก็ได้นะ" เภาไม่เคยรู้เลยว่าคำใสมีความคิดแปลกๆ แบบนี้

"ไม่จริงหรอกคำใส" เภาท้วง "ฉันเคยทำรายงานเรื่องบทสวดมนต์ เคยต้องหาทางแปล"

"แม้แต่บทสวดมนต์ที่เราเคยสวดสมัยเรียนประถมก็มีความหมายที่ดีมาก"

คำใสหรี่ตาคิดตาม

"เธอกำลังจะบอกว่า พวกเราน่าจะรู้ความหมายของบทสวดมนต์พระท่านสวดให้เราฟัง"

"ที่จริงมันไม่น่ายากเลย แต่ก็นั่นแหละ เพราะแม้แต่ฉันที่ต้องเรียกว่าตัวสอดรู้สอดเห็นเลยนะ ฉันก็ยังขวนขวายไม่พอ" เภาหัวเราะขันอะไรสักอย่าง

เสียงสวดมนต์จากโบสถ์เงียบไปแล้ว เสียงก่อกๆแก่กๆบนเรือนแม่ชีดังขึ้น

"ขึ้นไปหายายกันเถอะ" คำใสชวน

สองสาวเดินไปที่บันไดทางขึ้นเรือนแม่ชี ขณะที่กำลังถอดรองเท้า เภาก็หันไปเห็นแม่ชีร่างเล็กๆ คนหนึ่งกำลังค่อยๆ เกาะราวบันได้เดินสวนลงมา

"คำใส" เภาเรียกเบาๆพลางชี้ให้ดูแม่ชีเฒ่า

"อ้าว ยาย" คำใสพนมมือไหว้ เภาเห็นจึงไหว้ตาม

"ยายจะไปไหน"

"คำใสหรือ" ยายร้องทัก

ดูจากผิวพรรณที่เหี่ยวย่นแล้ว แม่เภานึกเล่นๆ ว่าอายุของแม่ชีชราผู้นี้คงไม่น่าจะน้อยกว่าเจ็ดสิบแปดสิบ แต่ดูอีกทียายก็ดูแข็งแรงเดินเหินขึ้นบันไดคนเดียวโดยไม่ต้องมีใครช่วย

"ยายจะไปไหน" คำใสถามอีก

"กลับมาตั้งแต่เมื่อไร" ยายถามกลับ แล้วก็เหมือนไม่ต้องการคำตอบ เพราะหลังจากถามเสร็จแกก็สวมรองเท้าแตะเดินมุ่งหน้าไปที่โบสถ์

คำใสมองหน้าเพื่อนแล้วยิ้ม "แกเป็นอย่างนี้แหละ"

"ยายจะไปไหนนี่"

เพิ่งจะคราวนี้เองที่ยายหันกลับมา "จะไปที่โบสถ์หน่อย จะเอาหนังสือไปคืนหลวงพ่อ" ว่าแล้วแกก็ออกเดินต่อ

"เดี๋ยวก่อนยาย" เภาไม่อยากรอ "หนูจะถามอะไรยายหน่อยหนึ่งก่อน ยายอย่าเพิ่งไป"

ยายหันมาตามเสียง แล้วก็ไม่เห็นแกจะสนใจหรือสงสัยเลยว่าเภาเป็นใคร "ถามอะไรอีหนู" พูดเสร็จแกก็เดินต่อ สองสาวเห็นดังนั้นก็รีบสวมรองเท้าเดินตามมา

"ยาย ถามเรื่องหมูยอที่ยายสอนแม่ทำหน่อยจ้ะ" คำใสช่วยเพื่อน

ยายไม่พูดอะไร ยังคงเดินไปเรื่อยๆ

"หนูอยากรู้ว่าทำไมเราต้องตัดหัวตัดท้ายก่อนจะเอามาต้มทุกครั้งทำไม ถามแม่ แม่ก็บอกไม่รู้ เห็นยายทำก็ทำตาม"

ประโยคนี้ทำให้ยายหยุดเดินหันมาถามคำใส "อะไรนะ"

คำใสจึงทวนประโยคให้อีกครั้ง แกฟังจบแกก็ยิ้มออกมา

"รุ่นแกก็ยังตัดหัวตัดท้ายทิ้งอยู่หรือ"

คำใสพยักหน้า

"ยายเป็นลาวพวน ย้ายมาจากขอนแก่น" นั่นไงสิ่งที่แม่เภาตั้งสมมติฐานไว้ว่าน่าจะเกี่ยวกับความเชื่อของบรรพบุรุษก็เริ่มเผยออกมา "ปู่แกก็ลาวพวน"

"แล้วลาวพวนมีความเชื่อว่าอะไรหรือยาย" แม่เภาใจร้อน

"เชื่ออะไรอีหนู" ยายออกเดินต่อ "พวกเราย้ายที่อยู่ก็หลายที แล้วพวกเรามีเงินกันเสียที่ไหน หม้อไหก็มีอยู่แค่สองสามใบ" พอยายเริ่มพูดประโยคต่อมา แม่เภาก็ชักเอะใจเสียแล้ว

"หม้อแต่ละใบก็เล็กๆทั้งนั้น ยายมีอยู่ใบหนึ่งแค่นี้เอง" ยายทำมือ

"แล้วหมูยอที่หลายๆ บ้านมาช่วยกันทำน่ะ เราก็ปั้นกันเสียทั้งใหญ่ ทั้งยาว ทำเสร็จแบ่งกันมาตามบ้าน" ยายหยุดไปนิดหนึ่งเพื่อเช็ดน้ำหมาก

เภาเริ่มเดาเรื่องออกแล้ว

"ถ้ายายไม่ตัดหัวท้ายทิ้ง ยายจะไปใส่หม้อต้มได้อย่างไร ก็หม้อมันเล็กกว่าตั้งเยอะ" แกพูดจบแกก็บ้วนน้ำหมากลงพื้น แล้วเดินลิ่วๆ ไปทิ้งให้สองสาวยืนอมยิ้มมองหน้ากันเองสองคน ประตูความลับแห่งหมูยอถูกเปิดแล้ว

"เพื่อนๆ มากันหลายคนหรือคำใส เย็นๆ ยายจะแวะไปหานะ อยากลองหมูยอฝีมือยายบ้างไหมละ" ยายพูดลอยๆ ขึ้นมา เหมือนไม่ต้องการคำตอบอย่างเคยๆ

………

เย็นวันนั้นที่บ้านคำใส เพื่อนยังคงล้อมวงอยู่ที่แคร่หน้าบ้านสองสามวง

วงหนึ่งยังคงเล่นกีต้าร์ร้องเพลงมาตั้งแต่บ่าย และทำตัวเหมือนว่าเพลงในโลกนี้จะต้องถูกร้องให้หมดภายในวันนี้ ส่วนอีกสองวงนั้นนั่งคุยกันส่งเสียงโขมงโฉงเฉง แต่สิ่งที่เหมือนกันในทุกวงก็คือ กลางวงต้องมีจานหมูยอรสเลิศพร้อมถ้วยแจ่ววางไว้อยู่กลางวง

เภาเดินเข้ามาช่วยคำใสอยู่ในครัว ยายของคำใสไม่ได้แวะมาอย่างที่บอก คำใสยังคงใช้ประโยคเก่า เมื่อเภาถามถึงยาย "แกเป็นอย่างนี้แหละ"

"คำใสขออีกจาน" เสียงแต้วดังขึ้นพร้อมกับโผล่หน้าเข้ามาในครัว มือนั้นถือจานเปล่ามาด้วย

เภายืนอยู่ใกล้ประตูจึงรับจานมา "พรุ่งนี้หน้าเธอก็คงจะเป็นหมูยอแล้ว ไม่กินอย่างอื่นเลยนี่ยัยแต้ว"

"อิอิ …หั่นหนาๆ นะเภา" พูดจบเพื่อนผู้พิศวาสหมูยอเป็นชีวิตจิตใจก็แล่นกลับไปที่วงกีต้าร์หน้าบ้านต่อทันที

"เภาส่งหมูยอก้อนนั้นมาให้ที" คำใสชี้มือไปที่ถาดที่วางอยู่หลังตู้

เภาทำตามที่เพื่อนบอก "สงสัยต้องต้มอีกรอบ" คำใสเอามือบีบ "ก้อนนี้ทำไว้ตั้งแต่เมื่อวาน" พูดจบคำใสก็หยิบหม้อใส่น้ำขึ้นตั้งเตา แล้วก็ถือหมูยอก้อนนั้นนิ่งอยู่เหมือนคิดอะไร สักพักคำใสก็ตัดสินใจวางก้อนหมูยอบนเขียง พลางหยิบมีดขึ้นมา

อะไรก็ไม่รู้บอกให้คำใสรู้ว่ามีสายตาคู่หนึ่งจ้องมาตลอด

เภานั่นเอง

"ยิ้มอะไร เภา" คำใสเขิน

เภายิ้มให้เพื่อนอย่างกว้างขวางที่สุด "หั่นหัวหั่นท้ายทิ้งเถอะ เธอจะได้มั่นใจว่ามันอร่อย"

หน้า 17

--------------------------------------------------------------------------------

วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ปีที่ 27 ฉบับที่ 9780

ฝันร้าย

คอลัมน์ คุยกับประภาส

โดย ประภาส ชลศรานนท์

ในฝันนั้น ผมนั่งอยู่เบาะหลังรถที่คล้ายๆ รถตะลุยป่า ข้างๆ ผมมีผู้ชายสองคนนั่งขนาบข้างอยู่ ส่วนด้านหน้าถ้ารวมคนขับก็ยังมีอีกสองคน

อันที่จริงจะเรียกว่ารถตะลุยป่าก็ไม่เชิงนัก เพราะด้านข้างของตัวรถทั้งซ้ายขวาติดตั้งอาวุธที่วงการทหารเขาเรียกว่าอาวุธหนักเต็มอัตรา ส่วนด้านหลังเบาะของผมก็ยังเป็นที่ตั้งของปืนกลขนาดใหญ่อีกกระบอก ไกปืนของมันยังห้อยมาใกล้ๆ ศีรษะผมอยู่บ่อยๆเวลารถวิ่งตกหล่ม

สองคนที่นั่งข้างๆ ผมนั้น คนหนึ่งเขาบอกผมว่าเขาเป็นนักท่องเที่ยว ส่วนอีกคนหนึ่งเขาเป็นนักรบ คนหลังนี้เขาไม่ได้บอกอะไรแต่ผมดูจากการแต่งตัวที่ตามแขนเสื้อและขากางเกงมีมีดพกและปืนผาหน้าไม้เหน็บอยู่เต็มตัวไปหมด

คนขับรถนี่ก็แต่งตัวแล้วเห็นได้ชัดว่าเป็นนักสืบ เพราะเขาสวมโอเวอร์โค้ตทับอยู่ มือขวาแม้จะจับพวงมาลัยแต่ก็ยังใช้นิ้วคีบแว่นขยายไว้ ส่วนคนที่นั่งข้างๆ เขาที่นั่งเงียบมาตลอดทางติดป้ายเล็กๆ ที่อกเสื้ออ่านได้ว่าไกด์

รถกำลังวิ่งไปไหนสักแห่ง ผมรู้แค่นั้น ในฝันเรามักจะไม่ค่อยมีจุดหมาย

ทิวทัศน์ข้างๆ ถนนที่รถวิ่งผ่านไปก็ล้วนเป็นทิวทัศน์ที่ผมไม่คุ้นตาเลย มันเต็มไปด้วยโขดหิน ชะง่อนผา จะมีต้นไม้ก็เพียงแค่หญ้าสีเหลืองๆ ที่ขึ้นแซมตามไหล่เขา

แล้วรถก็วิ่งมาถึงสถานที่หนึ่งที่ดูคล้ายๆ ภูเขายอดตัด

"เราต้องไปที่ยอดนั่น" ไกด์พูดขึ้น

"เราจะไปทำไม" นักสืบสงสัยเป็นคนแรก

"ระหว่างทางศัตรูเยอะไหม" นักรบเสริม

นักท่องเที่ยวนั่งฟังอยู่ไม่พูดอะไร ว่าแล้วเขาก็ควักกล้องถ่ายรูปขึ้นมาถ่ายไปที่ภูเขา

"ไปกันเถอะ"นักสืบวางแว่นขยายลงข้างๆ ตัวแล้วก็เข้าเกียร์รถเดินหน้าต่อไป ผมว่าเห็นตัวอะไรอยู่ข้างหน้าตรงทางขึ้นเขานะ

"ข้างหน้ามีตัวอะไรอยู่น่ะ" ไกด์พูดขึ้น ดีแล้วที่ผมไม่ได้เห็นคนเดียว เพราะสิ่งที่ผมเห็นนั้นถ้าไปเล่าให้ใครฟังอาจจะบอกไม่ได้ว่ามันคือตัวอะไร

รถจอดลงที่ตีนเขาตรงทางจะที่จะขึ้นเขาพอดี ผมรีบมองไปยังสิ่งแปลกประหลาดที่ผมเห็นมาแต่ไกล

มันเป็นก้อนกลมๆ ขนาดเท่าถังแก๊สใบย่อมๆ ได้ แม้จะไม่ได้เอามือไปจับก็พอจะรู้ว่ามันคงมีผิวนิ่มๆ เพราะเวลาที่มันขยับเหมือนจะหายใจ ผิวของมันก็จะกระเพื่อมตามไปด้วย ขนเส้นเล็กสีน้ำตาลที่ขึ้นรอบๆ ตัวแม้จะไม่มากนักแต่ก็ทำให้มันดูคล้ายผลเงาะลูกใหญ่ๆ

"สัตว์ประหลาดนี่" นักรบลุกขึ้นยืนเป็นคนแรกทันทีที่รถจอด

พอนักรบเขาพูดว่าสัตว์ประหลาด ผมก็มองเห็นปากเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่หลังขนที่ปกคลุมตัวอยู่ มันมีฟันซี่เล็กๆคล้ายซิปกางเกง

"ใครส่งมันมา" นักสืบทำหน้าที่ของตัวเอง

"เราอย่าไปสนใจเลย เราไปต่อเถอะ" ไกด์มองขึ้นไปบนยอดเขา อะไรบางอย่างบอกผมว่ายอดเขามันสูงขึ้นกว่าตอนที่ผมมองมาจากที่ไกลๆ

เสียงรองเท้ากระทบพื้นถนนเหมือนมีใครคนหนึ่งกระโดดลงไปจากรถ พอผมละสายตาจากยอดเขา ผมก็เห็นนักท่องเที่ยวกำลังเดินเข้าไปที่เจ้าตัวประหลาดที่ขวางทางรถอยู่ เขาเดินพลางหยิบกล้องออกมาเปิดฝาหน้ากล้อง

"กลับมา…อย่าเข้าไป อันตราย" นักรบใช้น้ำเสียงเหมือนออกคำสั่ง

"อาจมีใครส่งมันมาจัดการเราก็ได้" นักสืบหยิบแว่นขยายขึ้นมาส่องไปที่เจ้าสัตว์ประหลาด "มันเป็นตัวอะไรกันแน่"

"เราไปต่อเถอะ" ไกด์พูดประโยคเดิม "เดี๋ยวจะมืดเสียก่อน"

นักท่องเที่ยวยังคงเดินเข้าไปใกล้ๆ "ขอผมรูปเดียวชัดๆ จะเอาไปให้คนที่บ้านดู" เจ้าตัวประหลาดขยับตัวเล็กน้อยคล้ายตอบรับเสียงรบกวน ผมมองเห็นดวงตาเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่หลังเส้นขนแล้ว

ไม่รู้คิดไปเองอีกแล้วหรือเปล่า ผมว่าตามันเศร้าๆ

"ถอยกลับมา เชื่อผม" นักรบกระโดดลงมาจากรถ มือซ้ายมือขวาของเขาตอนนี้จับอยู่ที่ปืนและมีดข้างตัว

นักท่องเที่ยวเอากล้องขึ้นแนบหน้า และทันทีที่แสงไฟแฟลชสว่างขึ้น เจ้าตัวประหลาดที่มีแต่ขนก็ส่งเสียงร้องขึ้น นักท่องเที่ยวถอยกรูดจนแทบจะล้มลง

นักรบไม่รอช้า เขาดึงมีดพกที่เหน็บอยู่ข้างกางเกงขว้างไปที่เจ้าตัวประหลาดทันที คราวนี้เสียงร้องมันดังขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า นักสืบหันมาคว้าปืนที่อยู่ข้างตัวอย่างไม่รอช้า ผมกับไกด์เห็นดังนั้นก็รีบทำตาม ผมนั้นคว้าได้ปืนยาวที่อยู่หลังรถ

หลังจากส่งเสียงร้อง เจ้าตัวประหลาดก็กลิ้งเข้ามาใกล้รถพวกเรา แล้วจู่ๆ มันก็ยืนขึ้น ไม่มีใครรู้เลยว่ามันมีขา

"พันธุ์อะไรนี่ มีเป็นสิบๆ ขา" นักสืบเอาแว่นส่อง ไม่รู้เป็นเพราะมันลุกขึ้นยืนหรือเปล่า แต่ผมรู้สึกว่ามันตัวโตขึ้น

ปังๆๆๆๆ เสียงปืนจากปากกระบอกของนักรบดังขึ้น "อย่าให้มันเข้ามาใกล้รถ"

"เราขับรถทับมันเลยดีไหม เดี๋ยวจะไปไม่ถึงยอดเขา" ไกด์ร้องขึ้นทันทีที่นักท่องเที่ยวกระโจนขึ้นมาบนรถ

"ทับมันไหวหรือ คุณดูข้างหน้าสิ" ผมเรียกให้เขาดู

สัตว์ประหลาดตัวเล็กๆ ตอนนี้มันใหญ่เกือบจะเท่ารถของเราแล้ว

นักรบกระโดดข้ามหัวผมขึ้นไปประจำที่ปืนกลหลังรถแล้วก็สาดกระสุนใส่เจ้าสัตว์ประหลาดอย่างไม่ยั้ง แล้วก็เป็นอย่างที่ผมคิด ยิ่งมันถูกทำร้ายร่างกายมันก็เริ่มใหญ่ขึ้น

ใหญ่ไม่ใหญ่เปล่า มันยังงอกงวงงอกงาโผล่เล็บแหลมๆ ขนาดดาบอรัญญิกออกมาจากขาเป็นสิบๆ ของมันอีก และพอมันอ้าปากให้เห็นฟันคล้ายๆ เลื่อยไฟฟ้าเป็นร้อยๆ ซี่พร้อมน้ำลายอันเหนียวหนืดของมัน นักสืบก็เข้าเกียร์ถอยหลังหลบออกมาทันที "มันตามเรามา" ผมเห็นดวงตาของมันแสดงอาการโกรธอย่างเห็นได้ชัด

"ชนมันเลย"นักรบออกคำสั่งหลังจากยิงปืนกลหมดชุด

นักสืบหันมองหน้านักรบแวบหนึ่ง แล้วก็ตัดสินใจหยุดรถที่กำลังถอยหลัง แล้วเข้าเกียร์พร้อมเหยียบครัชและเหยียบคันเร่งให้เครื่องยนต์ทำงานรอ

"รอให้มันวิ่งสวนเข้ามาก่อน" นักรบโบกมือเตรียมให้สัญญาณ

และทันทีที่เจ้าสัตว์ประหลาดวิ่งเข้ามาใกล้สุด นักสืบก็ปล่อยคลัตช์ส่งรถทั้งคันวิ่งเข้าชนเจ้าสัตว์ร้าย ผมรีบคว้าโครงเหล็กข้างๆ ตัวเพื่อยึดไว้กันตก

เสียงโครมลั่นไปทั้งบริเวณ รถเรากระเทือนเหมือนจะหลุดเป็นชิ้นๆ กล้องถ่ายรูปของนักท่องเที่ยวกระเด็นมาตกที่หน้าตักผม ผมหยิบส่งให้เขาแล้วก็รีบมองไปข้างหน้าเพื่อจะหาเจ้าตัวประหลาดนั่น

"มันหายไปไหนแล้ว"

"ไม่ได้หายหรอก มันยืนคร่อมรถเราอยู่" ผมมองตามนิ้วชี้ของนักรบที่ชี้ขึ้นไปบนฟ้าคุณพระช่วย ตอนนี้มันตัวใหญ่เกือบจะเท่าภูเขาอยู่แล้ว

เร็วเท่าความคิด นักสืบใช้โอกาสนั้นเหยียบคันเร่งส่งรถวิ่งมุดขามัน พุ่งตรงเข้าทางขึ้นภูเขาไปทันที ผมรีบหันหลังมองย้อนกลับไป

"มันตามมาหรือเปล่า" นักสืบร้องถาม

"เปล่า"ผมมองเห็นมันยืนนิ่งอยู่ไกลๆ

รถของเราวิ่งไปอีกสักพัก ก็เริ่มชะลอ ดูเหมือนเรายังไม่หายตื่นเต้นดีเลย แต่กำลังจะเจออะไรข้างหน้าอีกแล้ว

"เดี๋ยวจะไม่ทันถึงยอดเขานะ" ไกด์ยังเป็นห่วงจุดหมายปลายทาง

นักสืบเหยียบเบรกให้รถจอดสนิท แล้วก็บุ้ยหน้าให้ทุกคนมองไปที่ข้างหน้ารถ

มีสัตว์ประหลาดตัวเล็กๆ ตัวหนึ่งยืนขวางอยู่ พวกเราทั้งห้าคนหันมามองหน้ากันโดยมิได้นัดหมาย เจ้าสัตว์ตัวที่เห็นนี้มันมีลักษณะเหมือนเจ้าตัวที่เราเพิ่งหนีมาทุกอย่าง

"เรากลับมาที่เก่า…" ผมรู้เพราะผมจำดวงตาคู่นั้นของมันได้

นักรบยืนขึ้นอีกครั้ง แล้วก็หยิบปืนพกขึ้นมาเล็งไปที่สัตว์ประหลาด เสียงปังดังขึ้น พร้อมๆ กับขนาดของเจ้าสัตว์ร้ายที่ใหญ่ขึ้น

ผมตื่นแล้ว

น่าแปลกใจที่ผมจดจำความฝันเมื่อคืนได้เป็นอย่างดี ภาพมันติดตาเหมือนเปิดดูวิดีโอหนังเรื่องโปรดซ้ำๆ

ผมกำลังทบทวนตัวเอง ว่าวันสองวันมานี้ผมไปทะเลาะอะไรกับใครที่มันไร้สาระหรือเปล่า ผมถึงได้ฝันร้ายอย่างนี้

เพราะผมรู้ว่าไอ้เรื่องที่มันไม่มีประเด็นนี่ ยิ่งทะเลาะมันก็จะยิ่งตัวใหญ่ไปเรื่อยๆไม่แพ้สัตว์ประหลาดตัวนั้น

หน้า 17
--------------------------------------------------------------------------------
วันที่ 02 มกราคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 27 ฉบับที่ 9794


เราจะผ่านเรื่องร้ายไปด้วยกัน

คอลัมน์ คุยกับประภาส

โดย ประภาส ชลศรานนท์

ดังนรกอกเอ๋ยมาอ้างว้าง

เช้ายังย่างยังเยื้องอยู่หลัดหลัด

คลื่นชีวิตโถมถามาพรากพลัด

มหาวิบัติโศกแสนทั้งแผ่นดิน

ทะเลร้าวพิโรธเหมือนโกรธขึ้ง

ฉุดกระชากลากดึงให้แดดิ้น

กี่ชีวิตเวทนาน้ำตาริน

ต้องสูญสิ้นย่อยยับชีพดับลง

พ่อแม่ลูกลอยหายใจจะขาด

ทั้งเครือญาติยายตามาพลัดหลง

พี่กับน้องล่องไหลแล้วร่วงลง

แทบหมดพงศ์เผ่าพันธุ์ในทันใด

ตรงที่เคยมีบ้านมีร้านค้า

มาบัดนี้มีแต่ฝาแต่ฟากไม้

ตรงที่เคยรองเรืองด้วยเครื่องไฟ

กลับวิเวกวังเวงใจไร้สำเนียง

ทั้งรถบ้านร้านเรือไม่เหลือแล้ว

เคยเป็นแถวเป็นถัดถูกซัดเกลี้ยง

หมดอาชีพชอกช้ำหมดน้ำเลี้ยง

ยินแต่เสียงร่ำไห้ตามรายทาง

ทั้งชาวเทศชาวไทยไม่มีเว้น

ชีวิตเป็นเช่นใบไม้ลอยในอ่าง

จะไหลหลุนหมุนติ้วหรือปลิวคว้าง

ไม่มีทางบังคับได้อย่างใจเลย

มหาสมุทรมาฉุดใจให้ได้คิด

โอ้ชีวิตกระจิดจ้อยนิจจาเอ๋ย

เมื่อวานซืนยังชื่นยืนอยู่เลย

วันนี้นอนก่ายเกยเป็นกองกอง

ให้หนีร้างห่างหายไปบางอื่น

ทุกวันคืนค่ำเช้าคงเศร้าหมอง

เห็นทะเลหนใดหัวใจร้อง

ประสานซ้องเสียงดังวังเวงวน

ทุกเกาะแก่งแล้งชีวิตเหมือนปิดเกาะ

เสียงหัวเราะหดหายทุกแห่งหน

อีกเมื่อไรได้กลับคืนเหมือนเคยยล

อีกเมื่อไรหัวใจคนจะคลี่คลาย

เกิดเป็นไทยใจคอคือปอป่าน

เราทอสานสมานสมัครเหมือนถักสาย

ถึงสูญเสียสิ้นหวังตั้งมากมาย

เราจะผ่านเรื่องร้ายไปด้วยกัน

คนยังอยู่จงสู้ไปแม้ใจวิ่น

ทั้งแผ่นดินรินหัวใจมาใส่ขวัญ

รวมพลังทั้งพารามากางกั้น

จะผลักดันฝันร้ายให้กลายคืน

หน้า 17
--------------------------------------------------------------------------------

วันที่ 09 มกราคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 9801

วิลเลี่ยม เจมส์

คอลัมน์ คุยกับประภาส

*ประภาส ชลศรานนท์*

ท่ามกลางเสียงร้องระงม และความอลหม่านของผู้คนนับพันในซากปรักหักพัง ผู้ชายคนหนึ่งกลับเดินสวนฝูงชนที่กำลังวิ่งหนีเอาตัวรอด กลับเข้าไปยังเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ

พ.ศ.2449 นครซานฟรานซิสโกแทบจะราบเป็นหน้ากลอง แม้ตึกสูงในยุคนั้นจะไม่สูงมากนัก แต่แรงเขย่าจากแผ่นดินไหวก็ถล่มจนพังลงมาแทบทั้งเมือง หลายจุดเกิดไฟไหม้ซ้ำ ผู้ที่รอดชีวิตแทบทั้งหมดขวัญเสียอย่างหนัก ด้วยเกิดมาไม่เคยพบเคยเห็นวินาศภัยที่ร้ายแรงขนาดนี้

นอกจากหน่วยกู้ภัย และนักผจญเพลิงที่กำลังทำงานกันอย่างขะมักเขม้นแล้ว ก็มีชายชราวัย 64 ปีคนนี้แหละครับที่เดินสวนฝูงชนเข้าไปในเหตุการณ์ธรณีวิบัติครั้งร้ายแรง

ชื่อของเขาคือ วิลเลี่ยม เจมส์

ในเหตุการณ์ครั้งนั้น คุณตาเจมส์ของเราได้ทำสิ่งที่ใครเห็นเข้าก็ต้องหันมองจนเหลียวหลัง เขาเดินถือสมุดบันทึกเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่งไว้ในมือแล้วก็เดินไปยังกลุ่มคนที่เพิ่งรอดชีวิตจากตึกถล่ม แล้วก็จดคำสัมภาษณ์ความรู้สึกสดๆ ร้อนๆ ของผู้คนเหล่านั้นเอาไว้ ดูๆ ไปก็คล้ายๆ นักข่าว แต่คุณตาเจมส์ไม่ใช่นักข่าวนะครับ จะว่าไปแล้วชื่อวิลเลี่ยม เจมส์ นี่ถ้าไปพูดให้นักศึกษาทางจิตวิทยาและปรัชญาทุกวันนี้ฟัง ทุกคนต้องรู้จักเขาเป็นอย่างดี

เขาเป็นนักปรัชญาผู้ริเริ่มแนวคิดหน้าที่นิยม (Functionalism) คำฝรั่งนี่มันแปลยากนะครับ บางแห่งก็เรียกแนวความคิดปรัชญากลุ่มนี้ว่า หน้าที่ทางจิต ยิ่งงงไปกันใหญ่นะผมว่า

ขออนุญาตชวนให้ลองฟังเขาดูหน่อยนะครับว่า แนวคิดหน้าที่นิยมของคุณตาเจมส์เขาว่าอย่างไร วิชาปรัชญานี่จะว่ายากก็ยากจะยากจะสนุกก็สนุก ฟังแล้วมึนได้ไม่แพ้กินเหล้าหรือนั่งเมาเรือกลางทะเลเลย

คุณตาเจมส์ ให้ความสนใจอย่างมากในเรื่องพฤติกรรม โดยเฉพาะการเรียนรู้ และเน้นศึกษาการทำหน้าที่ของอวัยวะต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ของตนเอง ถึงตรงนี้แล้วผมว่าเราน่าจะเรียกแนวคิดของคุณตาเจมส์ว่า แนวคิดพฤติกรรมนิยม มากกว่า ว่าไหมครับ

คุณตาเจมส์เชื่อว่า ความรู้จะเกิดขึ้นได้ จากความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม มนุษย์จะได้รับความรู้ต่อเมื่อตนเองเป็นผู้ลงมือกระทำเอง

สองย่อหน้านี้อ่านแล้วเข้าใจยากดีไหมครับ ถ้าไม่เข้าใจก็คิดเสียว่าเข้าทางคุณตาเจมส์พอดี เพราะแกก็บอกไว้แล้วว่า ความรู้จะเกิดได้ต่อเมื่อตนเองเป็นผู้ลงมือกระทำ หรือมีเหตุการณ์มาเกิดขึ้นกับตัวเอง ไม่ใช่ไปฟังไปอ่านมาจากไหน

เพื่อนผมคนหนึ่งเป็นผู้บริหารในธุรกิจเกี่ยวกับรายการโทรทัศน์ เขาเล่าให้ฟังถึงน้องคนหนึ่งที่เขาส่งให้ไปถ่ายทำสารคดีเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิถล่ม 6 จังหวัดภาคใต้

น้องคนที่กำลังจะถูกส่งลงใต้นี้ทำหน้าปุเลี่ยนๆ เมื่อได้รับคำสั่ง แล้วก็บอกหัวหน้าตัวเองไปว่า เขาเป็นคนกลัวผีมาก งานที่เขากำลังถูกส่งไปทำนี้มีคนตายเป็นพัน เขายอมรับว่าเขากลัว แต่ในเมื่อเป็นหน้าที่เป็นคำสั่งเขาก็ต้องลงไป

แต่เมื่อกลับขึ้นมากรุงเทพฯ การณ์กลับเปลี่ยนไปว่าเขาต้องรีบมาขอบคุณหัวหน้าเขายกใหญ่ที่ส่งเขาลงไป

เขาบอกว่าการลงไปทำงานครั้งนี้มันทำให้เขาได้สัมผัสคำว่า "ชีวิต" อย่างใกล้ชิดที่สุด เขาได้เห็นการช่วยเหลือกันของผู้คนอย่างไม่คิดถึงสิ่งตอบแทน ได้ลงไปช่วยผู้ตกทุกข์ได้ยากด้วยตัวเอง ได้เห็นความเป็นและความตายอยู่ข้างหน้าอย่างไม่รู้สึกรังเกียจรังงอนใดๆ มันเป็นความรู้สึกที่เขาไม่เคยสัมผัสมาก่อน

หรือนี่แหละ? คือคำยืนยันทฤษฎีของวิลเลี่ยม เจมส์

จะว่าไปแล้วถ้าคุณตาเจมส์ได้มาเที่ยวประเทศไทยเสียหน่อย แล้วได้มานั่งคุยกับหลวงปู่ของเราอีกสักหน่อย ก็จะพบว่าสิ่งที่คุณตาเจมส์พูดถึงนั้นคืออันเดียวกับที่ทางพุทธเราเรียกว่า พุทธะ คือการรู้อย่างภาวะหยั่งรู้ หรือการรู้ด้วยตัวเอง อย่างที่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทำเป็นตัวอย่างเมื่อก่อนพุทธศักราช

ตลอดชีวิตของคุณตาเจมส์ แกทุ่มเทไปกับการค้นคว้าเรื่องราวทางจิตที่เกี่ยวกับประสบการณ์ของมนุษย์ หลายคนยกย่องให้แกเป็นบิดาแห่งจิตวิทยาภาคทดลอง บ้างก็เรียกว่าแกเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางจิตวิทยา

หลักจิตวิทยาใหญ่ๆ ของคุณตาเจมส์ย้ำการพึ่งพาตนเอง และการสร้างลักษณะนิสัยที่สร้างสรรค์ คนที่อยู่รอบๆ ข้างๆ คุณตามักจะถูกแกกระตุ้นให้ทำอะไรใหม่ๆ ในชีวิตตลอดเวลา เช่นเขียนหนังสือสักเล่ม ปั้นรูปปั้นสักรูป เดินทางข้ามมหาสมุทรสักครั้ง ฯลฯ

ตอนที่แกเที่ยวเดินสอบถามความรู้สึกของผู้คนที่เพิ่งรอดพ้นเหตุการณ์แผ่นดินไหว ตอนนั้นแกดำรงตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยอยู่ พลังอันเต็มเปี่ยมของอาจารย์เจมส์นี้นับเป็นที่เลื่องลือของลูกศิษย์ลูกหาอย่างมาก เล่ากันว่าหลายครั้งที่คุณตาเจมส์สอนหนังสืออยู่นั้น ด้วยความที่ติดพันอยู่กับการกำลังอธิบายและเขียนกระดานดำไปด้วย คุณตาเจมส์จะไม่เสียเวลาแม้แต่จะลบกระดานแล้วเขียนใหม่ แต่คุณตาจะพูดไปเขียนไปจนกระทั่งกระดานดำหมดที่เขียน ต้องมาคุกเข่าเขียนต่อบนพื้นห้อง โดยที่ไม่มีใครหัวเราะการกระทำนี้แม้แต่คนเดียว เพราะทุกคนก็ถูกดึงดูดให้สนใจเรื่องที่อาจารย์เจมส์บรรยายอยู่

อาจารย์อย่างนี้ใครได้เป็นลูกศิษย์ก็ถือว่าบุญโขเลยครับ

เท่าที่ผมอ่านแนวความคิดของคุณตาเจมส์ดู คำพูดเดียวที่น่าจะร้อยรัดทุกรายละเอียดของแนวคิดของแกทั้งหมดเป็นทฤษฎีเดียวกัน ก็คือ มนุษย์มีศักยภาพล้นเหลือที่จะทำอะไรก็ได้โดยการกระทำ

ผมไม่รู้ว่าแกเคยพูดประโยคนี้หรือเปล่า แต่ถ้าให้ผมสร้างหนังอัตชีวประวัติของวิลเลี่ยม เจมส์ ผมคงเขียนบทใส่ปากนักแสดงที่เป็นพระเอกว่า "พฤติกรรมกำหนดชะตากรรม"

อยากให้ลองฟังข้อปลีกย่อยของแนวคิดของคนที่เคยมีชีวิตอยู่บนโลกเมื่อ 100 ปีก่อนคนนี้ดูครับ ผมว่าน่าสนใจทีเดียว ยิ่งกับบรรยากาศที่สลดหดหู่มาสองสามสัปดาห์ติดต่อกันอย่างนี้ คนบางคนน่าจะได้อ่านครับ

กิริยาควบคุมอารมณ์ คุณตาเจมส์ให้ลองทำหน้าทำตาขึงขังใส่กระจกเงาดู กล้ามเนื้อที่เกร็งบนใบหน้า ปากที่แสยะออก ถ้าเราทำไปสักพักมันจะทำให้เรารู้สึกโกรธขึ้นมาจริงๆได้ เรื่องนี้ผมช่วยยืนยันได้ครับ ไม่เชื่อลองนึกถึงตอนเราที่โกรธใครสักคนแล้วดันทะลุปล้องออกปากด่าขึ้นมา คราวนี้ความโกรธจะยิ่งทวีคูณแล้วครับ เพราะไอ้กิริยาท่าทางที่เราโกรธนี่แหละเป็นตัวส่งให้โกรธยิ่งขึ้น อารมณ์เศร้านี่ก็เหมือนกัน ถ้ามัวแต่ทำหน้าเศร้ากอดเข่าเจ่าจุกอยู่ อารมณ์เศร้ามันจะหนักขึ้นไปเรื่อยๆ ตามกิริยาท่าทางของเรา

งานกระตุ้นพลัง ทฤษฎีนี้ใครที่เป็นประเภทสุขนิยมหรือออกแนวขี้เกียจหน่อยคงไม่ชอบ คุณตาเจมส์เชื่อว่าการทำงานหนักต่างหากที่ทำให้เรามีพลังไม่ใช่พักผ่อนหย่อนใจแล้วถึงมีพลัง ใครที่นึกไม่ออกว่าคนทำงานหนักแล้วยิ่งกระตุ้นให้มีพลังเป็นอย่างไร ก็ลองตามไปดูคุณหมอพรทิพย์ของผมที่กำลังทำงานมหากุศลอยู่ที่ภาคใต้ ผมยังนึกสงสัยอยู่เลยว่าแกซ่อนแหล่งพลังงานไว้ตรงไหน ทำไมไม่รู้จักหมดเสียที หรือทฤษฎีของคุณตาเจมส์จะเป็นจริง

นิสัยบ่มได้ วิลเลี่ยม เจมส์น่าจะเป็นนักจิตวิทยาคนแรกๆ ที่พูดถึงเรื่องนี้ ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับแล้วว่า การมีปฏิสัมพันธ์กับภายนอกทางร่างกาย มันจะถูกจารึกไว้ในเซลล์สมอง และเมื่อปฏิสัมพันธ์บ่อยๆ รอยนั้นจะถูกจารึกแน่นขึ้น จากพฤติกรรมกลายเป็นนิสัย และจากนิสัยกลายเป็นสันดาน ไม่ต่างอะไรกับมะม่วงที่แม้ไม่สุกจากต้นก็บ่มให้สุกได้

กังวลนิดๆ มีชีวิตชีวา ต้องนับว่าแนวความคิดนี้แปลกทีเดียว แต่คุณตาเจมส์ก็ออกตัวไว้ด้วยว่า แม้แกจะชอบความเครียดน้อยๆ ที่ทำให้สมองตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา แต่ก็ไม่ได้หมายถึงความเครียดประเภททำลายตัวเอง

จะเป็นพระแม่อุมาหรือเจ้าแม่กาลี คุณตาเจมส์พูดไว้เป็นร้อยปีแล้วว่า มนุษย์มีทั้งด้านดีและด้านร้ายในตัวคนหนึ่งๆ แม้ฮินดูจะกล่าวถึงปางโหดร้ายและปางใจดีของพระแม่อุมาหลายพันปีแล้วก็ตาม คุณตาเจมส์แนะว่าถ้าด้านดีของเราเชื่อมั่นในความดีของมนุษยชาติ ก็ให้ศรัทธาด้านนั้นของตัวเอง แล้วก็อยู่กับมัน ผมเองก็เชื่อว่าใครก็ตามที่ศรัทธาในความดีของเพื่อนมนุษย์ เขานั่นแหละจะเป็นตัวสร้างสรรค์ความดีนั้นเองตลอดเวลา

ฝากไว้เป็นประโยคสุดท้ายครับ ประโยคของคุณตาเจมส์ นักปรัชญาชาวอเมริกันคนนี้ คนที่เชื่อว่ามนุษย์ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อลิขิตชะตากรรมของตัวเอง มิได้ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อเดินตามพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมอย่างต้อยๆ ฝากเผื่อแผ่ไปยังคนที่กำลังคิดว่าถูกชะตากรรมเล่นงานด้วย

"อย่าหวาดกลัวชีวิต จงเชื่อมั่นว่าชีวิตมีค่าควรแก่การดำรงอยู่ แล้วความเชื่อจะช่วยให้มันเป็นจริงตามนั้น"

หน้า 17
--------------------------------------------------------------------------------